วันพฤหัสบดีที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ประเภทของหนังสือต่างๆ

 หนังสือพิมพ์ (newspaper)เป็นหนังสือที่มีวัตถุประสงค์หลักในการให้ข่าวสารปัจจุบันแก่ผู้อ่าน  ส่วนนิตยสารนั้นมุ่งที่จะให้ความรู้ความบันเทิงเป็นสิ่งสำคัญ  การที่วัตถุประสงค์ในการจัดทำแตกต่างกัน   ลักษณะการใช้งานของหนังสือและลักษณะรูปร่างของหนังสือจึงย่อมแตกต่างกันออกไปด้วย  จะเห็นว่าหนังสือพิมพ์นั้นพิมพ์บนกระดาษแผ่นใหญ่เรียงซ้อนกัน  พับเป็นเล่มโดยไม่เย็บเล่มและไม่มีปก  ส่วนนิตยสารนั้นมักมีปกที่พิมพ์สีสันสวยงาม  เย็บเป็นเล่มและเจียนเล่มเรียบร้อย ขนาดของเล่มเล็กกว่าหนังสือพิมพ์  การที่หนังสือประเภทใดจะมีรูปเล่มและขนาดอย่างใดย่อมแล้วแต่ลักษณะและวัตถุประสงค์การใช้งานของหนังสือเล่มนั้นๆ เป็นสำคัญ  รูปเล่มและขนาดเล่มจะเป็นตัวกำหนดเครื่องจักรเครื่องมือเครื่องใช้ในการผลิต   ตลอดจนวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิตด้วย จึงเป็นเรื่องที่ต้องคำนึงถึงเชื่อมโยงกันไปทั้งสิ้น

 นิตยสาร (magazine)  สำหรับนิตยสารนั้น  ผู้ซื้อจะมีความพิถีพิถันมากกว่าซื้อหนังสือพิมพ์  นิตยสารจึงมีปกที่พิมพ์ภาพสวยงาม อายุการใช้งานมีระยะเวลานานกว่าหนังสือพิมพ์ซึ่งจะมีอายุอย่างน้อยเท่ากับระยะเวลาออกนิตยสารนั้นๆ  นิตยสารจึงยังคงคุณค่านานกว่าหนังสือพิมพ์ แม้เมื่อพ้นเวลาใช้งานแล้วก็ยังพอมีราคาอยู่บ้าง
 หนังสือเล่ม (book)  เป็นประเภทใหญ่ของหนังสืออีกประเภทหนึ่ง  อาจแบ่งออกเป็นประเภทย่อยได้หลายวิธี  คือแบ่งตามลักษณะของผู้อ่าน เช่น หนังสือเด็ก  หนังสือผู้ใหญ่หรือแบ่งตามเนื้อหาสาระ เช่น หนังสือสารคดีหนังสือบันเทิงคดี  ซึ่งแต่ละประเภทแบ่งย่อยออกไปได้อีก  เช่น สารคดี อาจแบ่งเป็นแบบเรียนในระดับการศึกษาต่างๆ  คู่มือครู แบบฝึกหัดตำราทางวิชาการ  หนังสืออ้างอิง  บันเทิงคดีก็แบ่งเป็น  นวนิยาย  กวีนิพนธ์  หนังสือเด็กก็อาจแยกออกเป็น  หนังสือภาพ  หนังสือการ์ตูนนิยาย  หนังสือแต่ละประเภทก็มีลักษณะรูปเล่มเฉพาะที่เหมาะกับลักษณะการใช้งานของหนังสือประเภทนั้นๆ  การผลิตหนังสือแต่ละประเภทจึงมีวิธีการและอุปกรณ์ที่เหมาะสมแก่การผลิตหนังสือประเภทนั้นๆ ซึ่งก็ย่อมแตกต่างกันออกไปแต่ละประเภท
 หนังสืออ้างอิง  เป็นหนังสือที่มีลักษณะพิเศษอีกแบบหนึ่งที่ผู้อ่านจะเลือกอ่านค้นคว้าเอาเฉพาะเรื่องที่ต้องการ  เช่น หนังสือพจนานุกรมจากภาษาหนึ่งไปอีกภาษาหนึ่ง  ผู้ซื้อจะค้นดูศัพท์เฉพาะคำที่ต้องการทราบความหมายโดยจะเปิดดูหน้าและตำแหน่งตรงที่มีศัพท์ที่ต้องการจะค้น  แล้วอ่านดูว่ามีคำแปลว่าอย่างใด  เข้าใจแล้วก็ปิดเล่ม  หนังสือเล่มหนึ่งๆ ได้อ่านจริงๆ ไม่กี่บรรทัดไม่กี่หน้า  หากเป็นพจนานุกรมฉบับกระเป๋าก็จะต้องผลิตให้มีขนาดเล็กสามารถพกติดตัวไปได้สะดวก  สามารถค้นดูศัพท์ได้ทุกเวลาที่ต้องการ  ขนาดของเล่มหนังสือจะเป็นสิ่งกำหนดตัวพิมพ์   ความหนาของแผ่นกระดาษและชนิดของกระดาษที่จะพิมพ์  เพื่อให้หนังสือมีขนาดพอเหมาะที่จะบรรจุศัพท์ต่างๆ ลงในเล่มให้ครอบคลุมได้กว้างขวางตามที่ต้องการ  และให้ได้ขนาดกว้างยาวและหนาพอที่จะพกในกระเป๋าเสื้อของผู้อ่านได้
แหล่งที่มา:http://kanchanapisek.or.th/kp6/sub/book/book.php?book=16&chap=6&page=t16-6-infodetail02.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น